สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 


มาตรา 70 นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้

 

วรรคสอง ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7811/2560 ผู้ทำการแทนบริษัทก็คือกรรมการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง แต่กรรมการก็คงมีอำนาจหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามที่บริษัทมอบหมายและตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1144 และตามผลของมาตรา 1167 กรรมการมีฐานะเป็นผู้แทนและเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทด้วย โดยกรรมการต้องมีการจดทะเบียนตามมาตรา 1157 และถือว่ากรรมการที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนเป็นกรรมการของบริษัท

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560 แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21764/2556

  • โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง อายุความ 1 ปี จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5158/2546 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า ร. ต้องชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ทั้งคำพิพากษาคดีก่อนก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาคดีก่อนเพียงแต่วินิจฉัยว่า ร. ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าในวันที่ศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษา โจทก์ได้ทราบแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์โดยรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ฝ่ายบริหาร) ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรายงานของกองนิติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ